โรงกลั่นจวกรัฐบิดเบือนราคา LPG ต้นเหตุนำเข้า-ทำสูญเงินกว่า 3 หมื่นลบ
นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ได้ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาเพื่อนำเสนอผลการศึกษาเรื่อง "ตลาดก๊าซปิโตรเลียมเหลว นโยบายราคาและแนวทางเลือกของประเทศไทย" เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นของทุกภาคส่วน และรวบรวมเป็นข้อเสนอสำหรับภาครัฐในการพิจารณากำหนดนโยบายด้านพลังงานต่อไป
โดยผลการศึกษาพบว่า การดำเนินนโยบายการควบคุมราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) อย่างต่อเนื่อง ทำให้พฤติกรรมการใช้พลังงานบิดเบือน ส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งต่อผู้ใช้น้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซล โรงกลั่นน้ำมันและประเทศชาติ ส่งผลให้ปริมาณการใช้ LPG ของประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณการใช้ในภาคขนส่งและอุตสาหกรรม และทำให้ประเทศไทยต้องมีการนำเข้า LPG เพิ่มขึ้น
โดยในปี 52 มีการนำเข้า LPG รวม 738,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 71% เมื่อเทียบกับปี 51 และคาดว่าในปี 53 นี้ ประเทศไทยอาจต้องนำเข้า LPG มากกว่า 1.33 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่าเกือบ 30,000 ล้านบาท ซึ่งโครงสร้างการใช้พลังงานดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ใช้น้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซลที่ต้องรับภาระในการจ่ายเงินสมทบเข้าสู่กองทุนน้ำมันเชื้อ เพลิงในปริมาณที่สูงขึ้น เพื่อนำเงินไปชดเชยภาระการนำเข้า LPG ที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ชดเชยไปแล้วกว่า 25,000 ล้านบาท
ขณะที่ผู้ผลิต LPG ในประเทศ โดยเฉพาะโรงกลั่นน้ำมันยังต้องแบกรับภาระส่วนต่างราคา ระหว่างราคาควบคุมจากผู้ผลิตในประเทศและราคาในตลาดโลก โดย 5 ปีที่ผ่านมา(47-52) กลุ่มโรงกลั่นน้ำมันภายในประเทศไม่เคยได้รับการชดเชยจากหน่วยงานที่เกี่ยว ข้อง แต่ต้องสูญเสียโอกาสทางธุรกิจจากการที่รัฐควบคุมราคาขาย ณ โรงกลั่นไปแล้วกว่า 50,148 ล้านบาท ซึ่ง 1 ใน 3 ของมูลค่าที่สูญเสียไปนี้ควรเป็นภาษีที่ต้องส่งให้กับภาครัฐเพื่อใช้ในการ พัฒนาประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีการนำ LPG ไปใช้ในภาคขนส่งเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติ(NGV) ในภาคขนส่งของรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังจะทำให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญเรื่องราคาเชื้อเพลิง เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เพราะการปรับแต่งเครื่องยนต์ เพื่อให้สามารถรองรับการใช้ LPG และการติดตั้งถังก๊าซที่ไม่ได้มาตรฐานอีกด้วย รวมทั้งยังมีการลักลอบนำ LPG บรรจุถังไปขายในประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากราคาจำหน่ายในประเทศไทยยังต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านได้รับประโยชน์จากการควบคุมราคา LPG ของไทยด้วย
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- พฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม 2553
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น